วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ปลากาเเดง

ปลากาแดง ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Epalzeorhynchos frenatum อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อย Cyprininae - Labeonini มีรูปร่างคล้ายปลาทรงเครื่อง (E. bicolor) และปลากาดำ (E. chrysophekadion) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่ว่ามีรูปร่างที่เพรียวยาวกว่า สีลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดงไม่คล้ำเหมือนปลาทรงเครื่องและปลากาดำ ครีบเป็นสีแดงหรือสีส้มอมเหลือง ด้านข้างหัวทั้งสองข้างมีแถบสีดำพาดจากปลายปากมาถึงตา โคนหางมีจุดสีดำหนึ่งจุด ปากขนาดเล็ก ริมฝีปากบนงองุ้มกว่าริมฝีปากล่าง มีหนวดสั้น ๆ 2 คู่ ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีอายุได้ถึง 4-6 ปี

ที่อยู่อาศัย  พบกระจายอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำแม่กลอง ในภาคเหนือและอีสานพบที่ แม่น้ำโขง ในต่างประเทศพบได้ถึงอินโดนีเซีย
นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเช่นเดียวกับปลาทรงเครื่องและปลากาดำ แต่ปลากาแดงนั้นเลี้ยงกว่า อัตราการรอดตายก็มากกว่าปลาทรงเครื่อง เป็นปลาที่มีนิสัยสงบ สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้เป็นอย่างดี และนิยมอย่างมากในปลาที่สีกลายเป็นปลาเผือก

ปลากาแดง ยังมีชื่อเรียกต่างออกไป เช่น "นวลจันทร์" ในภาษาอีสานเรียกว่า "สร้อยหลอด" หรือ "สร้อยดอกงิ้ว" ขณะที่ชื่อในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า "ฉลามสายรุ้ง" (Rainbow shark)

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

ปลาออสก้าร์

ต้นกำเนิดของปลาชนิดนี้อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ โดยค้นพบในแม่น้ำอะเมซอน และลำน้ำสาขา เป็นปลาที่หวงถิ่น  เดิมทีเป็นปลาที่ชาวบ้านแถบนั้นใช้เป็นอาหาร จนกระทั่งนักเลี้ยงปลาชาวยุโรปมาพบเข้าและติดใจในความสวยงามจึงนำกลับไปเลี้ยง จนกระทั่งแพร่หลายไปทั่วโลกในที่สุดแต่เดิมปลาออสการ์ไม่ได้มีสีสันสวยงามอย่างที่เราเห็น ปลาสายพันธุ์ดั้งเดิมที่จับจากแม่น้ำหรือปลาป่า จะมีเกล็ดสีแดงขึ้นแซมประปรายเพียงไม่กี่เกล็ดเท่านั้น ส่วนสีพื้นของลำตัวจะเป็นสีเทาดำ หรือเขียวมะกอก ต่อมาเมื่อมีการนำเข้าปลาชนิดนี้มาในเมืองไทย นักเพาะพันธุ์ชาวไทยได้พัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายและสวยงามกว่าปลาป่ามาก โดยปลาที่เพาะได้ในตอนนั้นมีสีแดงเพิ่มขึ้นเป็นลวดลายเด่นชัดขึ้น และได้รับการขนานนามว่า "ปลาออสการ์ลายเสือ" (Tiger Oscar) ซึ่งสามารถ เลี้ยงรวม กับ ปลาขนาดยักษ์ Jumbo Fishes ที่มาจากลุ่มแม่น้ำ เดียวกันได้เป็นอย่างดี อาทิเช่น ไทเกอร์โชว์เวสโนส, เรดเทลแคทฟิช, อะโรวาน่าเงิน เป็นต้น
สายพันธ์
นักเพาะพันธุ์ชาวไทยได้พัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายและสวยงามกว่าปลาป่ามาก โดยปลาที่เพาะได้ในตอนนั้นมีสีแดงเพิ่มขึ้นเป็นลวดลายเด่นชัดขึ้น และได้รับการขนานนามว่า "ปลาออสการ์ลายเสือ" (Tiger Oscar)
ลักษณะเด่นของปลาออสการ์ลายเสือ คือ มีแถบสีแดงพาดผ่านตั้งแต่บริเวณคอ ลำตัว และหางหลายส่วน และบริเวณโคนหางมีวงสีแดง  นอกจากออสการ์ลายเสือแล้ว ในเวลาไม่นานนักเพาะพันธุ์ชาวไทยก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งเมื่อสามารถทำให้ปลาออสการ์มีสีแดงทั้งตัวได้ โดยได้รับการตั้งชื่อว่า "ออสการ์สีทอง" หรือ "ออสการ์แสงอาทิตย์" (Red Oscar) ซึ่งทำให้ขณะนั้น นักเพาะพันธุ์ปลาออสการ์ชาวไทยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการส่งออกปลาตัวนี้ไปทั่วโลก  หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการคิดค้นสายพันธุ์ปลาชนิดนี้ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ออสการ์เผือก หรือออสการ์หางยาว เป็นต้น
ปลาออสการ์ขนาดเล็กลวดลายบนตัวจะยังไม่เป็นสีแดงสด โดยจะเริ่มจากสีครีมหรือเหลืองก่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เช่นเดียวกับสีพื้นของลำตัวของปลาที่จะเปลี่ยนจากสีเขียวมะกอกเป็นสีเทาดำ หรือดำสนิทเมื่ออายุได้ 8-9 เดือน
การเลี้ยงดู

เนื่องจากเมื่อโตเต็มที่ปลาชนิดนี้อาจยาวได้ถึง 1 ฟุต แต่ขนาดโดยทั่วไปมักจะยาวประมาณ 8-10 นิ้ว ดังนั้นตู้ที่ใช้เลี้ยงปลาออสการ์ควรมีขนาดใหญ่พอสมควร โดยเริ่มตั้งแต่ 30 นิ้วขึ้นไปจนถึง 60 นิ้ว ซึ่งก็แล้วแต่จำนวนปลาที่เลี้ยง ส่วนจำนวนปลาที่เลี้ยงนั้น ถ้าต้องการเลี้ยงเป็นฝูงควรมีจำนวนมากกว่า 4-5 ตัวขึ้นไป ไม่เช่นนั้นปลาจะกัดกันบ่อยมากเนื่องจากนิสัยเฉพาะตัวที่ต้องการความเป็นใหญ่ในฝูง ซึ่งหากตู้ที่ใช้เลี้ยงมีขนาดไม่ใหญ่มากก็ควรจะเลี้ยงเดี่ยวดีกว่า  
การตกแต่งตู้สามารถทำได้ตามใจของผู้เลี้ยง จะมีขอนไม้ หรือโขดหิน ประดับก็ได้ แต่ถ้าต้องการประดับไม้น้ำในตู้ควรใช้ไม้น้ำพลาสติกจะดีกว่า เพราะปลาออสการ์บางตัวมีนิสัยชอบกัดทำลายไม้น้ำ โดยเฉพาะในกรณีที่เลี้ยงปลาค่อนข้างแน่นหนาแล้วปลาเกิดความเครียด นอกจากนี้ปลาบางตัวยังมีนิสัยชอบขุดหิน หรือกรวดปูพื้นจนเป็นแอ่ง โดยเฉพาะช่วงจับคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งผู้เลี้ยงก็ควรจะทำใจเผื่อไว้บ้างในกรณีที่จัดตู้ไว้อย่างสวยงามแล้วโดนปลารื้อทำลาย
ระบบกรองสำหรับปลาชนิดนี้สามารถได้ทุกระบบ แต่เนื่องจากปลาออสการ์เป็นปลากินเนื้อ ดังนั้นปริมาณแอมโมเนียจากของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมาก็จะมากกว่าปลากินพืชโดยทั่วไป ผู้เลี้ยงจึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำอย่างน้อย 10-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 1 สัปดาห์ และควรเปลี่ยนน้ำขนานใหญ่เพื่อล้างกรวดก้นตู้บ้างภายในเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี
สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงก็เช่นเดียวกับปลาสวยงามชนิดอื่นๆ คือ ควรปราศจากคลอรีน ยกเว้นกรณีที่เปลี่ยนถ่ายน้ำในปริมาณไม่มากนักซึ่งมีน้ำเดิมเหลืออยู่มากเกินครึ่งตู้
ปลาที่เลี้ยงรวมกับปลาออสการ์ควรเป็นปลาในกลุ่มปลาหมอ Cichlidae ด้วยกัน แต่ควรมีขนาดใกล้เคียงกัน หรือว่องไวพอสมควร ไม่เช่นนั้นอาจโดนปลาออสการ์ทำร้ายเอาได้ ขณะเดียวกันถ้าปลาที่เลี้ยงอยู่มีขนาดใหญ่มากเกินไปก็ควรจะแยกออกไป ไม่เช่นนั้นวันดีคืนดีอาจเล่นงานออสการ์ตัวเก่งเอาได้  ส่วนปลากลุ่มอื่นที่เลี้ยงด้วยกันได้นั้น ส่วนมากมักจะเป็นปลาที่ไม่ค่อยว่ายน้ำหรือสามารถป้องกันตัวเองได้ เช่น ปลากราย ปลาตองลาย ปลาชะโด หรือปลาเสือตอ เป็นต้น  ปลาอีกกลุ่มที่เลี้ยงร่วมกันได้เป็นอย่างดีได้แก่ปลาที่อาศัยอยู่หน้าดินเป็นหลัก เช่น ปลากระทิงไฟ ปลากดดำ ปลากดแก้ว หรือปลาเรดเทล แคทฟิช เป็นต้น


ปลากัด

ปลากัดภาคกลาง หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens อยู่ในวงศ์ Macropodinae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae มีรูปร่างเพรียวยาวและแบนข้าง หัวมีขนาดเล็ก ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม มีอวัยวะช่วยหายใจบนผิวน้ำได้โดยใช้ปากฮุบอากาศโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากเป็นแบบ Ctenoid ปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบอกคู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส ปลาตัวผู้มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่ปลาตัวเมียสีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด
ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 6 เซนติเมตร พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งที่มีขนาดตื้นพื้นที่เล็กทั้งในภาคกลางและภาคเหนือในประเทศไทยเท่านั้น สถานะปัจจุบันในธรรมชาติถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและสารเคมีที่ตกค้าง
มีพฤติกรรมชอบอยู่ตัวเดียวในอาณาบริเวณแคบ ๆ เพราะดุร้ายก้าวร้าวมากในปลาชนิดเดียวกัน ตัวผู้เมื่อพบกันจะพองตัว พองเหงือก เบ่งสีเข้ากัดกัน ซึ่งในบางครั้งอาจกัดได้จนถึงตาย เมื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายก่อหวอดติดกับวัสดุต่าง ๆ เหนือผิวน้ำ ไข่ใช้เวลาฟัก 2 วัน โดยที่ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่และตัวอ่อนเอง โดยไม่ให้ปลาตัวเมียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ปลากัด
เป็นปลาที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีมาแต่โบราณ โดยปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมจากธรรมชาติมักเรียกติดปากว่า "ปลากัดทุ่ง" หรือ "ปลากัดลูกทุ่ง" หรือ "ปลากัดป่า" จากพฤติกรรมที่ชอบกัดกันเองแบบนี้ ทำให้นิยมนำมาเลี้ยงใช้สำหรับกัดต่อสู้กันเป็นการพนันชนิดหนึ่งของคนไทย และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และความสามารถในชั้นเชิงการกัดจนถึงปัจจุบัน จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยและเป็นที่รับรู้ของชาวต่างชาติในชื่อ "Siamese fighting fish"
ในปัจจุบัน ปลากัดภาคกลางได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีสีสันที่สวยงามและหลากหลายขึ้น เรียกว่า "ปลากัดหม้อ" นิยมเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กและแคบ เช่น ขวดโหล ขวดน้ำอัดลม เป็นต้น อีกทั้งยังได้พัฒนาสายพันธุ์ในแง่ของความเป็นปลาสวยงามอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ปลากัดจีน ที่มีเครื่องครีบยาว ปลากัดแฟนซี ที่มีสีสันหลากหลายสวยงาม ปลากัดคราวน์เทล หรือ ปลากัดฮาร์ฟมูน เป็นต้น

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ปลาหางนกยูง


ปลาหางนกยูง (Guppy) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Poecilia reticulata ในวงศ์ปลาสอด (Poeciliidae) เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ไม่เกิน 5 นิ้ว มีจุดเด่นคือครีบหางที่มีขนาดใหญ่ ตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกันจนเห็นได้ชัด กล่าวคือ ตัวผู้มีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามาก แต่มีสีสันและครีบที่สวยงามกว่า ขณะที่ตัวเมียตัวใหญ่กว่า ท้องอูม สีสันและครีบเครื่องเล็กกว่า
มีการกระจายพันธุ์บริเวณทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดจนถึงน้ำกร่อยที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ เป็นปลาอาศัยอยู่รวมเป็นฝูง หากินบริเวณผิวน้ำ โดยกินทั้งพืชและสัตว์น้ำรวมถึงแมลงหรือตัวอ่อนแมลงขนาดเล็กด้วย
ปลาหางนกยูงเป็นปลาที่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นปลาสวยงาม ในประเทศไทยได้มีการนำเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนิยมเลี้ยงกันในอ่างบัว เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายมาก มีสีสันสวยงาม สามารถเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงได้ จากการเป็นปลาผิวน้ำและเป็นปลาขนาดเล็ก ทำให้การเลี้ยงปลาหางนกยูงในอ่างบัว ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนเหมือนปลาชนิดอื่น ๆ อีกทั้งการแพร่ขยายพันธุ์ก็กระทำได้ง่ายมาก เนื่องจากเป็นปลาที่ปฏิสนธิภายในตัว และออกลูกเป็นตัว โดยปลาตัวเมียเมื่อได้รับการผสมแล้วจะสามารถให้ลูกไปได้ราว 2-3 ครอก ซึ่งการขยายพันธุ์ก็เพียงแค่จับปลาตัวผู้และตัวเมียมาเลี้ยงไว้รวมกันก็สามารถให้ลูกได้แล้ว โดยปลาที่มีความพร้อมที่จะขยายพันธุ์จะมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
ปัจจุบัน ปลาหางนกยูงได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันและลวดลายรวมทั้งขนาดลำตัวให้แตกต่าง สวยงามไปจากพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติเยอะมาก มีหลายสายพันธุ์ เช่น ทักซิโด้, กร๊าซ, คอบร้า, โมเสค , หางดาบ, นีออน เป็นต้น
จากความเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ง่าย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้คนไทยเลี้ยงปลาหางนกยูงไว้ในภาชนะที่ใส่น้ำในบ้านเพื่อกินลูกน้ำและยุงเพื่อเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากยุง และในปัจจุบัน ปลาหางนกยูงได้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งในประเทศไทยไปแล้ว มีการพบในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปปะปนกับปลาขนาดเล็กพื้นเมืองทั้งหลาย ซึ่งปลาหางนกยูงส่วนใหญ่ในธรรมชาติที่พบนั้น จะมีลำตัวใส ไม่มีลวดลายทั้งนี้เนื่องจากเป็นผลจากการผสมภายในสายเลือดเดียวกัน

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปลาก้างพระร้วง

  ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่นักเลี้ยงปลาตู้นิยมนำมาเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นปลาที่มีลักษณะแปลก เลี้ยงง่าย ขนาดพอเหมาะและมีนิสัยรักสงบ สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเป็นปลาที่มีราคาไม่แพงนัก เป็นปลาเขตร้อนในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พบที่เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในประเทศไทยมีรายงานว่าเคยพบที่จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และทางภาคใต้
ปัจจุบันปลาก้างพระร่วงในท้องถิ่นภาคกลางได้ลดน้อยลงเป็นอันมาก แทบหาไม่พบในธรรมชาติ แต่ยังคงพบปลาก้างพระร่วงนี้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติทางภาคใต้แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง และสงขลา
      ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กไม่มีเกล็ด จัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน ไม่มีเกล็ด รูปร่างด้านข้างแบนมาก ลำตัวยาวเรียว ท่อนหางโค้งงอเล็กน้อย มีชื่อเรียกหลายชื่อตามท้องถิ่น อาทิ ภาคกลางเรียก ปลาก้างพระร่วง ปลากระจก ภาคใต้เรียก ปลาบาง ปลาผี สำหรับชื่อวิทยาศาตร์ของปลาตัวนี้คือ Kryptopterus bicirrhis (Cuv. & Val.) ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Glass catfish ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ เนื้อปลาจะมีลักษณะโปร่งแสง ทำให้มองเห็นก้างภายในตัวได้อย่างชัดเจน ลำตัวยาวแบนข้างมีหนวด 2 คู่ หนวดคู่แรกอยู่บนขากรรไกรบน มีขนาดยาวและชี้ไปด้านหน้า ส่วนหนวดคู่ที่ 2 มีขนาดสั้น อยู่บนขากรรไกรล่าง ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากแทบมองไม่เห็น ครีบก้นยาวตลอดจนถึงครีบหาง หัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้น ตากลมโต เฉพาะส่วนของหัวและกระเพาะอาหารเท่านั้นที่ทึบแสง ขนาดของปลาโดยทั่วไปมีความยาว 8-10 ซม. ความยาวสูงสุดไม่เกิน 15 ซม.
 การกินอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัย  แหล่งที่อยู่อาศัยพบตามแหล่งน้ำไหลและเย็นมีร่มไม้รกครึ้ม เวลากลางวัน มักหลบอยู่ตามรากไม้ และแนวร่มไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ เวลากลางคืนจึงจะออกมาหาเหยื่อ เป็นปลาที่ชอบลอยตัวรวมฝูงตั้งแต่ 10-20 ตัว มักอยู่เป็นที่ กินอาหารประเภทแพลงก์ตอนสัตว์ ตัวอ่อนแมลงน้ำที่มีชีวิต ลูกน้ำและสัตว์น้ำขนาดเล็กในธรรมชาติพบมากในบริเวณอำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี
ความเป็นมา
จากคำบอกเล่าของคุณประสบ ไชยานุพันธกุล ผู้ทำการรับซื้อและรวบรวมปลาก้างพระร่วงส่งไปจำหน่ายตามแหล่งต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศปัจจุบัน กล่าวว่าเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว มีผู้รับซื้อปลาชนิดนี้ขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช คือคุณอรุณศิริ และได้ขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ จนมีผู้รับซื้อหลายราย ต่อมาได้มีผู้แนะนำให้ชาวอำเภอเขาชัยสน หาปลาชนิดนี้ขายเพราะเห็นว่าเป็นปลาที่มีอยู่จำนวนมากในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นอำเภอที่มีลำคลองน้อยใหญ่ที่มีน้ำใสไหลเอื่อย ๆ จากเชิงเขา และแนวร่มไม้ชายน้ำที่เป็นร่มเงาเหมาะต่อการอยู่อาศัยของปลา แต่เนื่องจากในสมัยนั้นการติดต่อค้าขายตลอดจนการลำเลียงขนส่งลำบาก ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงเลิกทำการรับซื้อ ต่อมาประมาณปี 2515 นายจ้างซึ่งเป็นชาวเขาชัยสนก็ได้ทดลองรับซื้อ ด้วยเห็นว่าเป็นสินค้าแปลกและทำกำไรได้บ้าง โดยทำการรับซื้อและขายในบ้าน (โดยผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมาส่งมารับที่บ้าน) ช่วงที่รับซื้อใหม่ ๆ ซื้อราคาตัวละประมาณ 25 สตางค์ ขายส่งราคาประมาณ 30 สตางค์ ต่อมาราคาขายดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเริ่มเป็นปลาที่หายากตลอดจนมีผู้รู้แหล่งทำการขายมากขึ้น ทำให้ราคารับซื้อในต้นฤดูที่มีปลาชุกชุมในแหล่งน้ำระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ของทุกปี ราคาปลาจะตกประมาณตัวละ 40 สตางค์ ถึง 50 สตางค์ และราคาจะขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงปลาย ๆ ปีปลาจะมีราคาแพงขึ้น เพราะเป็นระยะที่หาปลาได้ยาก ราคารับซื้อจะตกถึงตัวละ 2-2.50 บาท คือช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน ทำให้ผู้ที่หาปลาขายบางคนมีรายได้ถึงวันละ 500-1,000 บาท/คน
 วิธีการรวบรวมพันธุ์ปลา
   เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ในน้ำที่ลึกและสะอาด การรวบรวมพันธุ์ปลาจึงมักใช้สวิงทำเป็นวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 70 ซม. ความยาวของด้ามถือประมาณ 1 เมตร ส่วนลึกของสวิงจะโค้งหย่อนลงให้พอสำหรับเมื่อช้อนปลาขึ้นมาแล้วไม่กระโดดหนีไปได้ วิธีการหาปลาในเวลากลางคืนจะใช้เรือออกไปในลำน้ำ เอาสวิงวางไว้ใต้น้ำแล้วเอาปลาดุกสดที่ขูดเนื้อมาละลายน้ำให้เกิดกลิ่นคาวเป็นเหยื่อล่อให้ปลาก้างพระร่วงออกมากินเหยื่อ ปลาก็จะออกมาเองเป็นฝูง ๆ ปลาชนิดนี้ชอบอยู่ประจำที่ ทำให้ผู้หาทราบแหล่งในการเก็บเกี่ยวและเก็บไว้เป็นความลับเฉพาะตน การจับปลาในเวลากลางคืนจะจับได้มากกว่าในเวลากลางวัน ซึ่งใช้เวลาระหว่าง 19.00-24.00 น. แล้วเก็บปลาไว้ในภาชนะโดยไม่ต้องให้อากาศจนรุ่งเช้าจึงนำปลาส่งขาย ส่วนวิธีหาปลาในเวลากลางวัน ซึ่งปลามักอาศัยหลบตามร่มเงาไม้และใต้รากไม้ ผู้หาจะใช้สวิงลงรุนในลำคลองที่น้ำไม่ลึกจนเกินไป แล้วตักใส่ถังน้ำนำส่งร้านรับซื้อได้เลย
การอนุบาลปลาก่อนส่งขาย
   เมื่อผู้รับซื้อได้ปลามาแล้ว จะพักในบ่อที่เตรียมไว้ หรือจะใช้ผ้ายางกั้นเป็นคอกก็ได้ ให้ออกซิเจนถ้าต้องการเลี้ยงไว้หลายวันต้องให้ลูกน้ำเพื่อเป็นอาหาร แต่ตามปกติผู้รับซื้อจะติดต่อรับการสั่งซื้อมาก่อนแล้วจึงบอกให้ชาวประมงลูกทีมออกหาปลา ช่วงที่ยังไม่มีการสั่งซื้อจะงดรับซื้อปลาเพื่อลดภาระการให้อาหารปลาและการสูญเสียจากการตาย การลำเลียงขนส่งก็ทำเช่นเดียวกับปลาทั่วไปเนื่องจากมีขนาดเล็กและไม่มีครีบที่แหลมคม (spine) โดยจับนับจำนวนใส่ถุงพร้อมอัดออกซิเจน ส่งขายทางกรุงเทพ ฯ และมาเลเซีย จากความพยายามของคุณประสพ ไชยานุพันธกุล ผู้ค้าปลาก้างพระร่วงในปัจจุบัน ที่จะทำการผสมพันธุ์ปลาชนิดนี้ให้ได้มาเป็นเวลา 10 ปี เล่าว่าได้ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาลงในสระที่เตรียมไว้ก็ตาม หรือทำกระชังสำหรับให้พ่อแม่ปลาผสมกันเองโดยให้ออกซิเจนตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าได้พยายามติดตามดูแลขนาดและพฤติกรรมของปลานี้ในธรรมชาติว่าน่าจะวางไข่ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน สังเกตจากการที่ได้ทำการรับซื้อปลาชนิดนี้มาตลอดเกือบยี่สิบปี พบว่าราวปลายเดือนธันวาคม ของทุกปีจะเริ่มมีลูกปลาขนาดเล็ก หรืออย่างช้าราวเดือนมกราคม ชาวประมงจะสามารถรวบรวมลูกปลาและเริ่มจับมาขายได้แล้ว ซึ่งในช่วงต้น ๆ เดือนจะพบว่ามีปลาขนาดเล็กปะปนมากับปลาขนาดกลางและใหญ่เป็นจำนวนมาก
 ข้อที่น่าเป็นห่วง
จากการที่ปลาก้างพระร่วงต้องอาศัยอยู่ในน้ำสะอาดที่ใสเย็น รกครึ้มด้วยร่มไม้ชายน้ำ ดังนั้นการขุดลอกคลองเพื่อการพัฒนาใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้น้ำขุ่นเป็นตะกอนและทำลายต้นไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ ตลอดจนรากไม้ที่เป็นแหล่งหลบพักอาศัยและซ่อนตัวของปลา ย่อมเป็นการทำลายระบบนิเวศน์แหล่งที่อยู่อาศัยตลอดจนแหล่งเพาะพันธุ์และวางไข่ในธรรมชาติ จะเป็นสาเหตุทำให้ปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำได้วิธีหนึ่ง จึงควรจะได้ระมัดระวังและให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นรายได้เพื่อปากท้องของราษฎร โดยสมควรจะได้มีการศึกษาผลได้และผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากในปีหนึ่ง ๆ ราษฎรมีรายได้จากการหาปลาพระร่วง คนละเป็นหมื่นบาท สามารถทำเงินเข้าอำเภอเขาชัยสนได้ปีละเป็นล้านบาท เป็นการเพิ่มรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของชาวประมงได้ดีขึ้น นับว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของจังหวัดพัทลุง ดังนั้นคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ราษฎรในท้องถิ่น ควรจะได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง การรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของแปล่งน้ำให้มีความสมดุล เพื่อการมีผลผลิตปลาก้างพระร่วงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป

ปลาเสือ

2541ปลาเสือตอเป็นปลาสวยงามที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่นักเลี้ยงปลาในต่างประเทศรู้จักกันดีมาหลายสิบปีแล้วในชื่อ SIAM TIGER FISH มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coius Microlepis พบปลาชนิดนี้ทั่วไปในประเทศทางแถบร้อนเช่น อินโดนีเซีย ไทย พม่า เขมร ในประเทศไทยเราพบมากในบึงบอระเพ็ด แม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง แม่น้ำน่าน ทางภาคอีสานพบในแม่น้ำโขง, แม่น้ำชี, แม่น้ำมูล
ลักษณะทั่วไปของปลาเสือตอปลาเสือตอมีลำตัวเล็กแบนข้างส่วนที่เป็นหน้าผากขาวลาด ปากกว้าง และยืดหดได้ ครีบหลังยาวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นหนามแข็ง 12 อัน ส่วนหลังเป็นก้านครีบอ่อนครีบล่างส่วนแรกเป็นหนามแข็งขนาดใหญ่ลดหลั่นกัน 3 อัน ส่วนหลังเป็นก้านครีบอ่อนเป็นแผ่นใสขอบกลม หางเป็นรูปมนมีเกล็ดขนาดเล็กรอบเกล็ดมีหนาม ลำตัวมีสีครีมออกชมพูและสีเหลือง มีแถบดำใหญ่พาดขวางลำตัวประมาณ 6 แถบ ขนาดความยาวเมื่อโตเต็มที่มีความยาว 16 นิ้ว
ปลาเสือตอที่นิยมในตลาดปลาสวยงามในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 3 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์เสือตอน้ำจืด 2 สายพันธุ์และสายพันธุ์เสือตอน้ำกร่อยอีก
  สายพันธุ์
ลักษณะที่เป็นความสวยงามเฉพาะตัวของปลาเสือตอคือ รูปทรงที่แบนกว้าง มีพื้นสีเหลืองสดใส มีลายดำพาดขวางลำตัวอย่างได้ส่วน เวลาเคลื่อนไหวครีบบนครีบล่างส่วนท้ายอ่อนพลิ้ว ครีบท้องหรือครีบตะเกียบมีสีเหลืองตัดสีดำเหยียดตรง มีชายพู่ตะเกียบ 3-4 เส้น ดูสง่างามโดยเฉพาะเวลาตามเหยื่อ หนามแข็งส่วนหน้าของครีบจะชี้ตัวขึ้น ครีบหนามล่างจะเหยียดลงทำให้ดูสวยงาม ปกติชอบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำที่มีตอไม้จึงจะได้ชื่อว่า "ปลาเสือตอ"
การเลี้ยงปลาเสือตอ

ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปลาเสือตอจะอาศัยอยู่บริเวณน้ำลึกในฤดูร้อนเพื่อวางไข่และย้ายตำแหน่งในฤดูน้ำหลาก ปลาเสือตอขนาดเล็กในแหล่งน้ำธรรมชาติกินอาหารประเภทสัตว์น้ำขนาดเล็กแทบทุกชนิด ส่วนปลาเสือตอขนาดใหญ่ชอบกินกุ้งฝอยและลูกปลา ส่วนปลาเสือตอที่นำมาเลี้ยงในตู้กระจกสามารถฝึกให้กินเหยื่อชนิดอื่นๆเช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา กุ้ง และหนอนมีลเวิร์มแต่ต้องใช้ความพยายามในการฝึกค่อนข้างนานกว่าปลาชนิดอื่น
วิธีฝึกให้กินเหยื่อ ต้องนำปลาชนิดอื่นที่กินเหยื่อนั้นดีอยู่แล้ว และมีขนาดไล่เลี่ยกับปลาเสือตอฝูงที่จะฝึกมาใส่รวมกันและเลี้ยงด้วยอาหารชนิดนั้น ปลาที่เคยกินเหยื่อจะชักนำให้ปลาเสือตอที่ไม่เคยกินเหยื่อชนิดนั้นแย่งกินเป็นบางครั้ง หากปลาเสือตอคายเหยื่อจะต้องคอยตักออกเมื่อฝึกไปสัก 3-4 สัปดาห์ ปลาเสือตอจะเริ่มคุ้นเหยื่อที่ให้ในระยะแรกหากปลาเสือตอที่ต้องการฝึกยังไม่ยอมกินต้องใช้เหยื่อเป็นคือ ลูกกุ้งฝอย ปลาเล็ก เป็นๆใส่ให้กินแต่น้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาท้องกิ่วตาย

การเพาะขยายพันธุ์ปลาเสือตอ
ปลาเสือตอสามารถวางไข่โดยวิธีธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การฉีดฮอร์โมนเข้าช่วย ช่วงการวางไข่ประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปลาเสือตอเพศผู้จะมีขนาดโตเต็มวัยเมื่อมีน้ำหนักประมาณ 300-400 กรัม ส่วนปลาเสือตอเพศเมียขนาด 800 กรัมจะได้วัยเจริญพันธุ์
ไข่ปลาเสือตอเป็นไข่ประเภทลอยน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ใช้เวลาฟักออกเป็นตัวประมาณ 14-17 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิประมาณ 29 องศาเซลเซียส และถุงอาหารจะยุบภายในเวลา 2-3 วัน อาหารที่เหมาะสมของลูกปลาเสือตอวัยอ่อนควรเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก เช่นโรติเฟอร์ในระยะ 3-10 วันแรก และใช้ไรแดงเลี้ยงอนุบาลจนได้ขนาด 3 เซนติเมตรขึ้นไป จึงใช้หนอนแดงอาร์ทีเมียขนาดใหญ่หรือลูกปลาขนาดเล็กให้กินเป็นอาหาร
โรคและปัญหาของปลาเสือตอ
โรคของปลาเสือตอมักจะเกิดจากปรสิตที่ติดมากับปลาเสือตอในธรรมชาติที่พบอยู่เป็นประจำคือ
- ฝีตามตัว มีลักษณะเป็นตุ่มตามตัวหรือส่วนทวารขนาดค่อนข้างใหญ่เป็นตุ่มบวมปูดออกจากผิวหนัง
วิธีรักษาคือ ให้แยกปลาที่มีอาการป่วยออกมาใส่ตู้พยาบาลที่มีระบบกรองน้ำและให้อากาศค่อนข้างแรงจึงอดอาหารไว้ 2-3 วันแล้วใช้ยาปฏิชีวนะผสมน้ำ 1 ช้อนโต๊ะต่อ 1 แคปซูลราดลงบนตัวกุ้งฝอยเป็นๆที่กรองแห้งไว้แล้วเทให้ปลากิน 1 วันครั้ง สัก 2-3 ครั้ง
- โรคอิ๊กหรือจุดขาว เกิดจากเชื้ออิ๊ก ใช้ยาซุปเปอร์อิ๊กที่มีขายอยู่ตามร้านขายปลาทั่วไป แช่ปลาตามอัตราส่วนที่กำหนด
ปลาเสือตอมีสีคล้ำเป็นลักษณะ แสดงความไม่สมบูรณ์และเจ็บป่วย เพราะสีของปลาเสือตอแสดงถึงความสมบูรณ์และอารมณ์ของปลา ปลาเสือตอที่ตกใจหรือป่วยจะออกสีดำ ครีบหุบ ลักษณะของปลาที่สมบูรณ์ครีบจะกางสีออกเหลืองสดใส ลายดำออกซีด ครีบกางตั้งทั้งปลาขนาดเล็กจนถึงปลาขนาดใหญ่
ตลาดปลาเสือตอ
ปลาเสือตอที่พบในแหล่งน้ำทางภาคอีสานเป็นปลาเสือตอลายเล็กมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coius Undecimraciatus หรือในชื่อเรียกที่รู้จักในตลาดปลาสวยงามว่า "เสือตอลายเล็ก" พบมากในแม่น้ำโขงแถบจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร ในแม่น้ำมูล มีจำนวนค่อนข้างมาก ราคาซื้อขายขนาดเล็ก 2 นิ้วฟุต ตัวละ 20-50 บาท ปลาเสือตออีกชนิดหนึ่งคือ ปลาเสือตอน้ำกร่อยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coius Quadrifasciatus หรือเรียกว่า "ปลากะพงลาย" เป็นปลาเสือตอที่ลายเล็กที่สุดมีนิสัยค่อนข้างก้าวร้าว พบในแหล่งธรรมชาติตามปากแม่น้ำแทบทุกแห่งทั่วประเทศ จัดเป็นปลาเสือตอที่ราคาถูกที่สุด
ปลาเสือตอชนิดที่นิยมและมีราคาสูงที่สุดในปัจจุบันคือ ปลาเสือตอลายใหญ่และเสือตอลายคู่(ลาย 7 ขีด) ปลาเสือตอทั้ง 2 ชนิดนี้ต้องนำเข้ามาจากประเทศเขมร เป็นปลาที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ทะเลสาบในประเทศเขมรโดยมีพ่อค้าคนกลางเก็บรวบรวม ปลาเสือตอทุกขนาดลำเลียงเข้ามาในประเทศไทยเพื่อขายส่งต่อไปยังต่างประเทศทั่วโลกเป็นสินค้าปลาสวยงามนิ้วละ 60-100 บาท ส่วนปลาเสือตอลายคู่ราคาจะสูงกว่าปลาเสือตอลายใหญ่เกือบ 3 เท่าตัว

ปลาคาร์ฟ

   ปลาแฟนซีคาร์ป (Fancy carp) หรือที่เรียกกันว่าปลาไนแฟนซี ปลาไนสี หรือปลาไนทรงเครื่อง เป็นปลาน้ำจืดในกลุ่มปลาตะเพียน (carp) ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า โคย (Koi) หรือนิชิกิกอย (Nishikigoi) เดิมทีเป็นปลาไนชนิดธรรมดา ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่พบอยู่ทุกหนทุกแห่งในโลก บริเวณที่ถือว่าเป็นแหล่งดั้งเดิมจริง ๆ ของปลาไนคือประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ชาวจีนเป็นชนกลุ่มแรกที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปลาไนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว สำหรับประเทศญี่ปุ่น ตามหลักฐานตามประวัติศาสตร์ชิ้นแรกที่มีอยู่เกี่ยวกับ Koi นั้นได้เขียนขึ้นเมื่อประมาณสองร้อยปีหลังคริสต์ศตวรรษ หลักฐานดังกล่าวได้เล่าถึงปลาชนิดนี้ว่ามีสีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ปลาเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงไว้สำหรับดูเล่นการฟักไข่และอนุบาลลูกปลา           ไข่ปลาแฟนซีคาร์ปเป็นไข่ที่ติดกับวัสดุ มีสีเหลืองอ่อน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.7 มิลลิเมตร ไข่ที่ผสมแล้วมีลักษณะโปร่งใสใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 45 ชั่วโมง ณ อุณหภูมิ 28-29 องศาเซลเซียส เมื่อฟักเป็นตัวใหม่ ๆ ตัวอ่อนจะเกาะติดกับวัสดุใต้น้ำ ลูกปลาวัยอ่อนจะกินอาหารจากถุงไข่แดง (Yolk sac) ที่ติดอยู่ที่ตัวปลา เมื่อถุงไข่แดงยุบ (ประมาณ 2-3 วัน) ปลาจะเริ่มว่ายน้ำและหาอาหารธรรมชาติ อาหารในช่วงแรกนี้ควรใช้นมผงหรือไข่แดงต้มสุก บดละเอียดละลายน้ำให้กินวันละ 4-6 ครั้ง จากนั้นจึงให้ไรแดงจืด (Moina sp.) เป็นอาหาร ลูกปลาจะเริ่มเกิดครีบหาง และครีบหูเมื่ออายุ 6 วัน เริ่มมีเกล็ดเมื่ออายุ 12 วัน และจะเจริญเติบโตจนมีรูปร่างและอวัยวะต่าง ๆ ครบเหมือนปลาทั่วไปเมื่ออายุได้ 15 วัน ซึ่งในระยะนี้ลูกปลาจะมีความยาวเฉลี่ย 1.7 เซนติเมตร
             การคัดเลือกลูกปลา โดยทั่วไปแล้วหลังจากที่ลูกปลามีอายุประมาณ 60 วัน จึงเริ่มมีการคัดลูกปลา โดยคัดแยกปลาที่มีลักษณะดี สีสวยงาม ไม่พิการไปเลี้ยง ส่วนปลาที่ไม่ต้องการควรแยกออก เพื่อมิให้ปะปนกัน ปลาที่มีลักษณะดี ในการเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์ปในแต่ละครั้ง อาจได้ลูกปลาที่สีสวยงามดี ในการเพาะแต่ละครั้งจะได้ลูกปลาที่มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่ปลาที่สามารถคัดได้มีคุณภาพดีเยี่ยมอาจไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ หรือไม่ได้เลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของพ่อแม่ วิธีการอนุบาล ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ของผู้เพาะพันธุ์การเรียก
ชื่อปลาแบบญี่ปุ่นปัจจุบันการเรียกชื่อปลาแฟนซีคาร์ปตามสายพันธุ์ อาศัยการดูลักษณะและรูปร่างแถบสีของปลาเป็นหลัก ชาวญี่ปุ่นเป็นผู้กำหนดการเรียกชื่อของปลานี้โดยแบ่งออกเป็น 13 กลุ่ม ลักษณะดังต่อไปนี้
โคฮากุ (KOHAKU)

     "โค" แปลว่า แดง "ฮากุ" แปลว่า ขาว โคฮากุ คือปลาที่มีสีแดงกับสีขาว ปลาที่ดีสายพันธุ์นี้จะต้องเป็นสีขาวสะอาดเหมือนสีหิมะซึ่งจะตัดกับแดงซึ่งอยู่ในรูปแบบที่ดีอย่างเด่นชัดไทโช-ซันโชกุ (TAISHO-SANSHOKU)
      จักรพรรดิไทโช บิดาของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน คือเริ่มประมาณ ค.ศ. 1912 "ซันโชกุ" แปลว่า 3 สี ปลาคาร์ปพวกนี้พื้นลำตัวเป็นสีขาว แต่ลวดลายหรือจุดแต้มสีแดงหรือสีดำที่เด่นชัด ส่วนสีขาวก็เป็นเหมือนหิมะและที่ครีบหูจะต้องเป็นสีขาวด้วย
โชวา-ซันโชกุ (SHOWA-SANSHOKU)
      "โชวา" หมายถึง ยุคหนึ่งในสมัยจักรพรรดิองค์ปัจจุบันครองราช เริ่มประมาณ ค.ศ. 1927 "ซันโชกุ" แปลว่า 3 สี ปลาคาร์ปกลุ่มนี้มีพื้นลำตัวเป็นสีดำ แต่มีลวดลายหรือจุดแต้มสีขาวและสีแดง ที่ครีบหูจะต้องมีจุดสีดำ
อุทซึริ-โมโน (UTSURI-MONO)
      "อุทซึริ" หมายถึง สีดำที่เป็นลายแถบคาดคลุมจากหลังลงมา ถึงส่วนท้องด้านล่างบนพื้นสีอื่น ๆ ปลาที่รู้จักกันดีในกลุ่มนี้เช่น ชิโร-อุทซึริ (Shiro-Utsuri), ฮิ-อุทซึริ (Hi-Utsuri), คิ-อุทซึริ (Ki-Utsuri)
เบคโกะ (BEKKO)
      "เบคโกะ" แปลว่า กระ ปลากลุ่มนี้มีสีขาว แดง หรือเหลือง สีลวดลายเป็นสีดำ มีลักษณะเหมือนที่พบบนกระดองเต่า คือ สีดำเป็นดอก ๆ บนลำตัว ปลาที่รู้จักกันดีในกลุ่มนี้เช่น ชิโร-เลคโกะ (Shiro-Bekko), ฮิ-เบคโกะ (Hi-Bekko), คิ-เบคโกะ (Ki-Bekko) เป็นต้น
อาซากิ ชูซุย (ASAGI, SHUSUI)
      "อาซากิ" แปลว่า สีฟ้าอ่อน ส่วนบนของลำตัวปลาเป็นสีฟ้าหรือสีเทา แต่มีลวดลายคล้ายร่างแหหรือตาข่ายคลุม "ชูซุย" หมายถึง ปลาแฟนซีคาร์ปพันธุ์เยอรมัน (โดยซึ) ที่มีเกล็ดสีน้ำเงินบนแนวสันหลัง
โคโรโมะ (KOROMO)
      "โคโรโมะ" แปลว่า เสื้อคลุม โคโรโมะ หมายถึง ปลาซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างกลุ่มสีโคฮากุ กับกลุ่มสีอาซากิ หรือกลุ่มสีซันโกกุ กับกลุ่มสีอาซากิ สายพันธุ์ที่เกิดใหม่และรู้จักกันดีในกลุ่มนี้เช่น อะ-โคโรโมะ (Ai-goromo), ซูมิ-โคโรโมะ (Sumi-goromo) เป็นต้น
ฮิการิ-มูจิโมโน หรือ โอกอน (HIKARI-MUJIMONO or OGON)
      "ฮิการิ" แปลว่า แสงรัศมี "มูจิโมโน" แปลว่า ชนิดที่มีสีเดียวกันล้วน ๆ หมายถึงปลาที่มีสีเดียวกันตลอดตัว "โอกอน" เป็นปลาที่มีสีเหลืองทอง Platinum-Ogon เป็นปลาสีเหลืองที่มีประกายเหมือนทองคำขาว, Orange-Ogon เป็นปลาสีเหลืองมีประกายสีส้ม เป็นต้น
ฮิการิ-โมโยโมโน (HIKARI-MOYOMONO)
      "ฮิการิ" แปลว่า แสงรัศมี "โมโยโมโน" แปลว่า ชนิดที่ผสม รวมความแปลว่าชนิดที่มีเกล็ดสีเงินสีทองเป็นแสงรัศมี เป็นลูกผสมระหว่างปลาโอกอน กับปลาในกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปลากลุ่ม อุทซึริ ปลาที่รู้จักกันดีในกลุ่มนี้เช่น ยามาบูกิ-ฮาริวากี (Yamabuki-Hariwake), คูจากุ (Kujaku) เป็นต้น
ฮิการิ-อุทซึริโมโน (HIKARI-UTSURIMONO)
       เป็นการผสมพันธุ์ปลาระหว่างอุทซึริ กับ โอกอน ได้ลูกปลาสีพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีสีทองหรือสีเงินแทรกอยู่ เช่น สีของพันธุ์โชวาที่มีสีทองคำขาวแทรกอยู่ (Gin-Showa) สีของพันธุ์อุทซึริที่มีสีทองแทรกอยู่ (Kin-Ki-Utsuri) เป็นต้น
คาวาริโมโน (KAWARIMONO)
       "คาวาริ" แปลว่า เปลี่ยนแปลงนอกคอก ไม่เหมือนใคร "โมโน" แปลว่า ชนิด รวมความแปลว่า ชนิดที่สีไม่เหมือนใคร เช่น ปลาสีดำ (Karasugoi) สีชา (Chagoi), สีเขียว (Midorigoi)
คินกินริน (KINGINRIN)
       "คิน" แปลว่า ทอง "กิน" แปลว่า เงิน "ริน" แปลว่า เกล็ด รวมความแปลว่า ปลาที่มีเกล็ดทอง เกล็ดเงิน หมายถึงปลาที่มีเกล็ดสีเงินสะท้อนแสงแวววาวเป็นลายเส้นขนานตามแนวยาวของสันหลัง เช่น ปลาพันธุ์โคฮากุที่มีเกล็ดเงิน (Kinginrin-Kohaku) ปลาพันธุ์เบคโกะที่มีสีเงิน (Kinginrin-Bekko) เป็นต้น
ตันโจ (TANCHO)
      "ตันโจ" แปลว่า หงอนแดงของหัวไก่ หมายถึงปลาที่มีสีแดงลักษณะกลมที่หัว ส่วนลำตัวจะมีสีขาวหรือสีอื่นก็ได้ เช่น ตันโจ-โคฮากุ (Tencho Kohaku), ตันโจ-โชวา (Tancho-Showa) เป็นต้นจากการตั้งชื่อกลุ่มปลาดังกล่าวข้างต้น จะสังเกตได้ว่าการเรียกชื่อถือรากศัพท์ของสี สถานที่ ชื่อรัชสมัย ฯลฯ ในประเทศญี่ปุ่นมาเป็นคำเรียก ดังนั้นในการเรียกชื่อปลาแต่ละตัวซึ่งมีลักษณะรวมในกลุ่มเดียวหรือหลายกลุ่มปนกันจึงสามารถนำชื่อกลุ่มเรียงต่อกัน หรือจะตั้งเป็นชื่อใหม่ก็ได้ ตัวอย่างเช่น
ตันโจ-แพลทินั่ม-กินริน (Tancho-Platinum-Ginrin)       หมายถึงปลาสีแพลทินั่มที่มีสีแดงกลมที่หัวและเกล็ดสีเงินสะท้อนแสงแวววาวเป็นสายเส้นขนานตามลำตัว
ตันโจ-โชวา-ซันโชกุ (Tancho-Showa-Sanshoku)
       หมายถึงปลาสีแดง ดำ ขาว ซึ่งมีสีดำเป็นสีพื้นของลำตัวตลอดจนครีบหู และมีสีแดงกลมที่บริเวณหัว
แพลทินัม-โดยซึ (Platinum-Doitsu)       หมายถึงปลาพันธุ์เยอรมันที่มีสีทองคำขาว
ฮิ-อุทซึริ (Hi-Utsuri)
      หมายถึงปลาสีแดงที่มีสีดำเป็นลายแดงคาดคลุมจากหลังลงมาถึงส่วนท้องด้านล่าง
ชิโร-เบคโกะ (Shiro-Bekko)
      หมายถึงปลาสีขาวที่มีลวดลายสีดำเป็นดอกบนลำตัว