วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปลาก้างพระร้วง

  ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่นักเลี้ยงปลาตู้นิยมนำมาเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นปลาที่มีลักษณะแปลก เลี้ยงง่าย ขนาดพอเหมาะและมีนิสัยรักสงบ สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเป็นปลาที่มีราคาไม่แพงนัก เป็นปลาเขตร้อนในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พบที่เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในประเทศไทยมีรายงานว่าเคยพบที่จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และทางภาคใต้
ปัจจุบันปลาก้างพระร่วงในท้องถิ่นภาคกลางได้ลดน้อยลงเป็นอันมาก แทบหาไม่พบในธรรมชาติ แต่ยังคงพบปลาก้างพระร่วงนี้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติทางภาคใต้แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง และสงขลา
      ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กไม่มีเกล็ด จัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน ไม่มีเกล็ด รูปร่างด้านข้างแบนมาก ลำตัวยาวเรียว ท่อนหางโค้งงอเล็กน้อย มีชื่อเรียกหลายชื่อตามท้องถิ่น อาทิ ภาคกลางเรียก ปลาก้างพระร่วง ปลากระจก ภาคใต้เรียก ปลาบาง ปลาผี สำหรับชื่อวิทยาศาตร์ของปลาตัวนี้คือ Kryptopterus bicirrhis (Cuv. & Val.) ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Glass catfish ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ เนื้อปลาจะมีลักษณะโปร่งแสง ทำให้มองเห็นก้างภายในตัวได้อย่างชัดเจน ลำตัวยาวแบนข้างมีหนวด 2 คู่ หนวดคู่แรกอยู่บนขากรรไกรบน มีขนาดยาวและชี้ไปด้านหน้า ส่วนหนวดคู่ที่ 2 มีขนาดสั้น อยู่บนขากรรไกรล่าง ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากแทบมองไม่เห็น ครีบก้นยาวตลอดจนถึงครีบหาง หัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้น ตากลมโต เฉพาะส่วนของหัวและกระเพาะอาหารเท่านั้นที่ทึบแสง ขนาดของปลาโดยทั่วไปมีความยาว 8-10 ซม. ความยาวสูงสุดไม่เกิน 15 ซม.
 การกินอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัย  แหล่งที่อยู่อาศัยพบตามแหล่งน้ำไหลและเย็นมีร่มไม้รกครึ้ม เวลากลางวัน มักหลบอยู่ตามรากไม้ และแนวร่มไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ เวลากลางคืนจึงจะออกมาหาเหยื่อ เป็นปลาที่ชอบลอยตัวรวมฝูงตั้งแต่ 10-20 ตัว มักอยู่เป็นที่ กินอาหารประเภทแพลงก์ตอนสัตว์ ตัวอ่อนแมลงน้ำที่มีชีวิต ลูกน้ำและสัตว์น้ำขนาดเล็กในธรรมชาติพบมากในบริเวณอำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี
ความเป็นมา
จากคำบอกเล่าของคุณประสบ ไชยานุพันธกุล ผู้ทำการรับซื้อและรวบรวมปลาก้างพระร่วงส่งไปจำหน่ายตามแหล่งต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศปัจจุบัน กล่าวว่าเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว มีผู้รับซื้อปลาชนิดนี้ขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช คือคุณอรุณศิริ และได้ขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ จนมีผู้รับซื้อหลายราย ต่อมาได้มีผู้แนะนำให้ชาวอำเภอเขาชัยสน หาปลาชนิดนี้ขายเพราะเห็นว่าเป็นปลาที่มีอยู่จำนวนมากในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นอำเภอที่มีลำคลองน้อยใหญ่ที่มีน้ำใสไหลเอื่อย ๆ จากเชิงเขา และแนวร่มไม้ชายน้ำที่เป็นร่มเงาเหมาะต่อการอยู่อาศัยของปลา แต่เนื่องจากในสมัยนั้นการติดต่อค้าขายตลอดจนการลำเลียงขนส่งลำบาก ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงเลิกทำการรับซื้อ ต่อมาประมาณปี 2515 นายจ้างซึ่งเป็นชาวเขาชัยสนก็ได้ทดลองรับซื้อ ด้วยเห็นว่าเป็นสินค้าแปลกและทำกำไรได้บ้าง โดยทำการรับซื้อและขายในบ้าน (โดยผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมาส่งมารับที่บ้าน) ช่วงที่รับซื้อใหม่ ๆ ซื้อราคาตัวละประมาณ 25 สตางค์ ขายส่งราคาประมาณ 30 สตางค์ ต่อมาราคาขายดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเริ่มเป็นปลาที่หายากตลอดจนมีผู้รู้แหล่งทำการขายมากขึ้น ทำให้ราคารับซื้อในต้นฤดูที่มีปลาชุกชุมในแหล่งน้ำระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ของทุกปี ราคาปลาจะตกประมาณตัวละ 40 สตางค์ ถึง 50 สตางค์ และราคาจะขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงปลาย ๆ ปีปลาจะมีราคาแพงขึ้น เพราะเป็นระยะที่หาปลาได้ยาก ราคารับซื้อจะตกถึงตัวละ 2-2.50 บาท คือช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน ทำให้ผู้ที่หาปลาขายบางคนมีรายได้ถึงวันละ 500-1,000 บาท/คน
 วิธีการรวบรวมพันธุ์ปลา
   เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ในน้ำที่ลึกและสะอาด การรวบรวมพันธุ์ปลาจึงมักใช้สวิงทำเป็นวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 70 ซม. ความยาวของด้ามถือประมาณ 1 เมตร ส่วนลึกของสวิงจะโค้งหย่อนลงให้พอสำหรับเมื่อช้อนปลาขึ้นมาแล้วไม่กระโดดหนีไปได้ วิธีการหาปลาในเวลากลางคืนจะใช้เรือออกไปในลำน้ำ เอาสวิงวางไว้ใต้น้ำแล้วเอาปลาดุกสดที่ขูดเนื้อมาละลายน้ำให้เกิดกลิ่นคาวเป็นเหยื่อล่อให้ปลาก้างพระร่วงออกมากินเหยื่อ ปลาก็จะออกมาเองเป็นฝูง ๆ ปลาชนิดนี้ชอบอยู่ประจำที่ ทำให้ผู้หาทราบแหล่งในการเก็บเกี่ยวและเก็บไว้เป็นความลับเฉพาะตน การจับปลาในเวลากลางคืนจะจับได้มากกว่าในเวลากลางวัน ซึ่งใช้เวลาระหว่าง 19.00-24.00 น. แล้วเก็บปลาไว้ในภาชนะโดยไม่ต้องให้อากาศจนรุ่งเช้าจึงนำปลาส่งขาย ส่วนวิธีหาปลาในเวลากลางวัน ซึ่งปลามักอาศัยหลบตามร่มเงาไม้และใต้รากไม้ ผู้หาจะใช้สวิงลงรุนในลำคลองที่น้ำไม่ลึกจนเกินไป แล้วตักใส่ถังน้ำนำส่งร้านรับซื้อได้เลย
การอนุบาลปลาก่อนส่งขาย
   เมื่อผู้รับซื้อได้ปลามาแล้ว จะพักในบ่อที่เตรียมไว้ หรือจะใช้ผ้ายางกั้นเป็นคอกก็ได้ ให้ออกซิเจนถ้าต้องการเลี้ยงไว้หลายวันต้องให้ลูกน้ำเพื่อเป็นอาหาร แต่ตามปกติผู้รับซื้อจะติดต่อรับการสั่งซื้อมาก่อนแล้วจึงบอกให้ชาวประมงลูกทีมออกหาปลา ช่วงที่ยังไม่มีการสั่งซื้อจะงดรับซื้อปลาเพื่อลดภาระการให้อาหารปลาและการสูญเสียจากการตาย การลำเลียงขนส่งก็ทำเช่นเดียวกับปลาทั่วไปเนื่องจากมีขนาดเล็กและไม่มีครีบที่แหลมคม (spine) โดยจับนับจำนวนใส่ถุงพร้อมอัดออกซิเจน ส่งขายทางกรุงเทพ ฯ และมาเลเซีย จากความพยายามของคุณประสพ ไชยานุพันธกุล ผู้ค้าปลาก้างพระร่วงในปัจจุบัน ที่จะทำการผสมพันธุ์ปลาชนิดนี้ให้ได้มาเป็นเวลา 10 ปี เล่าว่าได้ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาลงในสระที่เตรียมไว้ก็ตาม หรือทำกระชังสำหรับให้พ่อแม่ปลาผสมกันเองโดยให้ออกซิเจนตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าได้พยายามติดตามดูแลขนาดและพฤติกรรมของปลานี้ในธรรมชาติว่าน่าจะวางไข่ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน สังเกตจากการที่ได้ทำการรับซื้อปลาชนิดนี้มาตลอดเกือบยี่สิบปี พบว่าราวปลายเดือนธันวาคม ของทุกปีจะเริ่มมีลูกปลาขนาดเล็ก หรืออย่างช้าราวเดือนมกราคม ชาวประมงจะสามารถรวบรวมลูกปลาและเริ่มจับมาขายได้แล้ว ซึ่งในช่วงต้น ๆ เดือนจะพบว่ามีปลาขนาดเล็กปะปนมากับปลาขนาดกลางและใหญ่เป็นจำนวนมาก
 ข้อที่น่าเป็นห่วง
จากการที่ปลาก้างพระร่วงต้องอาศัยอยู่ในน้ำสะอาดที่ใสเย็น รกครึ้มด้วยร่มไม้ชายน้ำ ดังนั้นการขุดลอกคลองเพื่อการพัฒนาใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้น้ำขุ่นเป็นตะกอนและทำลายต้นไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ ตลอดจนรากไม้ที่เป็นแหล่งหลบพักอาศัยและซ่อนตัวของปลา ย่อมเป็นการทำลายระบบนิเวศน์แหล่งที่อยู่อาศัยตลอดจนแหล่งเพาะพันธุ์และวางไข่ในธรรมชาติ จะเป็นสาเหตุทำให้ปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำได้วิธีหนึ่ง จึงควรจะได้ระมัดระวังและให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นรายได้เพื่อปากท้องของราษฎร โดยสมควรจะได้มีการศึกษาผลได้และผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากในปีหนึ่ง ๆ ราษฎรมีรายได้จากการหาปลาพระร่วง คนละเป็นหมื่นบาท สามารถทำเงินเข้าอำเภอเขาชัยสนได้ปีละเป็นล้านบาท เป็นการเพิ่มรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของชาวประมงได้ดีขึ้น นับว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของจังหวัดพัทลุง ดังนั้นคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ราษฎรในท้องถิ่น ควรจะได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง การรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของแปล่งน้ำให้มีความสมดุล เพื่อการมีผลผลิตปลาก้างพระร่วงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น