วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

ปลาออสก้าร์

ต้นกำเนิดของปลาชนิดนี้อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ โดยค้นพบในแม่น้ำอะเมซอน และลำน้ำสาขา เป็นปลาที่หวงถิ่น  เดิมทีเป็นปลาที่ชาวบ้านแถบนั้นใช้เป็นอาหาร จนกระทั่งนักเลี้ยงปลาชาวยุโรปมาพบเข้าและติดใจในความสวยงามจึงนำกลับไปเลี้ยง จนกระทั่งแพร่หลายไปทั่วโลกในที่สุดแต่เดิมปลาออสการ์ไม่ได้มีสีสันสวยงามอย่างที่เราเห็น ปลาสายพันธุ์ดั้งเดิมที่จับจากแม่น้ำหรือปลาป่า จะมีเกล็ดสีแดงขึ้นแซมประปรายเพียงไม่กี่เกล็ดเท่านั้น ส่วนสีพื้นของลำตัวจะเป็นสีเทาดำ หรือเขียวมะกอก ต่อมาเมื่อมีการนำเข้าปลาชนิดนี้มาในเมืองไทย นักเพาะพันธุ์ชาวไทยได้พัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายและสวยงามกว่าปลาป่ามาก โดยปลาที่เพาะได้ในตอนนั้นมีสีแดงเพิ่มขึ้นเป็นลวดลายเด่นชัดขึ้น และได้รับการขนานนามว่า "ปลาออสการ์ลายเสือ" (Tiger Oscar) ซึ่งสามารถ เลี้ยงรวม กับ ปลาขนาดยักษ์ Jumbo Fishes ที่มาจากลุ่มแม่น้ำ เดียวกันได้เป็นอย่างดี อาทิเช่น ไทเกอร์โชว์เวสโนส, เรดเทลแคทฟิช, อะโรวาน่าเงิน เป็นต้น
สายพันธ์
นักเพาะพันธุ์ชาวไทยได้พัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายและสวยงามกว่าปลาป่ามาก โดยปลาที่เพาะได้ในตอนนั้นมีสีแดงเพิ่มขึ้นเป็นลวดลายเด่นชัดขึ้น และได้รับการขนานนามว่า "ปลาออสการ์ลายเสือ" (Tiger Oscar)
ลักษณะเด่นของปลาออสการ์ลายเสือ คือ มีแถบสีแดงพาดผ่านตั้งแต่บริเวณคอ ลำตัว และหางหลายส่วน และบริเวณโคนหางมีวงสีแดง  นอกจากออสการ์ลายเสือแล้ว ในเวลาไม่นานนักเพาะพันธุ์ชาวไทยก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งเมื่อสามารถทำให้ปลาออสการ์มีสีแดงทั้งตัวได้ โดยได้รับการตั้งชื่อว่า "ออสการ์สีทอง" หรือ "ออสการ์แสงอาทิตย์" (Red Oscar) ซึ่งทำให้ขณะนั้น นักเพาะพันธุ์ปลาออสการ์ชาวไทยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการส่งออกปลาตัวนี้ไปทั่วโลก  หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการคิดค้นสายพันธุ์ปลาชนิดนี้ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ออสการ์เผือก หรือออสการ์หางยาว เป็นต้น
ปลาออสการ์ขนาดเล็กลวดลายบนตัวจะยังไม่เป็นสีแดงสด โดยจะเริ่มจากสีครีมหรือเหลืองก่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เช่นเดียวกับสีพื้นของลำตัวของปลาที่จะเปลี่ยนจากสีเขียวมะกอกเป็นสีเทาดำ หรือดำสนิทเมื่ออายุได้ 8-9 เดือน
การเลี้ยงดู

เนื่องจากเมื่อโตเต็มที่ปลาชนิดนี้อาจยาวได้ถึง 1 ฟุต แต่ขนาดโดยทั่วไปมักจะยาวประมาณ 8-10 นิ้ว ดังนั้นตู้ที่ใช้เลี้ยงปลาออสการ์ควรมีขนาดใหญ่พอสมควร โดยเริ่มตั้งแต่ 30 นิ้วขึ้นไปจนถึง 60 นิ้ว ซึ่งก็แล้วแต่จำนวนปลาที่เลี้ยง ส่วนจำนวนปลาที่เลี้ยงนั้น ถ้าต้องการเลี้ยงเป็นฝูงควรมีจำนวนมากกว่า 4-5 ตัวขึ้นไป ไม่เช่นนั้นปลาจะกัดกันบ่อยมากเนื่องจากนิสัยเฉพาะตัวที่ต้องการความเป็นใหญ่ในฝูง ซึ่งหากตู้ที่ใช้เลี้ยงมีขนาดไม่ใหญ่มากก็ควรจะเลี้ยงเดี่ยวดีกว่า  
การตกแต่งตู้สามารถทำได้ตามใจของผู้เลี้ยง จะมีขอนไม้ หรือโขดหิน ประดับก็ได้ แต่ถ้าต้องการประดับไม้น้ำในตู้ควรใช้ไม้น้ำพลาสติกจะดีกว่า เพราะปลาออสการ์บางตัวมีนิสัยชอบกัดทำลายไม้น้ำ โดยเฉพาะในกรณีที่เลี้ยงปลาค่อนข้างแน่นหนาแล้วปลาเกิดความเครียด นอกจากนี้ปลาบางตัวยังมีนิสัยชอบขุดหิน หรือกรวดปูพื้นจนเป็นแอ่ง โดยเฉพาะช่วงจับคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งผู้เลี้ยงก็ควรจะทำใจเผื่อไว้บ้างในกรณีที่จัดตู้ไว้อย่างสวยงามแล้วโดนปลารื้อทำลาย
ระบบกรองสำหรับปลาชนิดนี้สามารถได้ทุกระบบ แต่เนื่องจากปลาออสการ์เป็นปลากินเนื้อ ดังนั้นปริมาณแอมโมเนียจากของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมาก็จะมากกว่าปลากินพืชโดยทั่วไป ผู้เลี้ยงจึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำอย่างน้อย 10-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 1 สัปดาห์ และควรเปลี่ยนน้ำขนานใหญ่เพื่อล้างกรวดก้นตู้บ้างภายในเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี
สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงก็เช่นเดียวกับปลาสวยงามชนิดอื่นๆ คือ ควรปราศจากคลอรีน ยกเว้นกรณีที่เปลี่ยนถ่ายน้ำในปริมาณไม่มากนักซึ่งมีน้ำเดิมเหลืออยู่มากเกินครึ่งตู้
ปลาที่เลี้ยงรวมกับปลาออสการ์ควรเป็นปลาในกลุ่มปลาหมอ Cichlidae ด้วยกัน แต่ควรมีขนาดใกล้เคียงกัน หรือว่องไวพอสมควร ไม่เช่นนั้นอาจโดนปลาออสการ์ทำร้ายเอาได้ ขณะเดียวกันถ้าปลาที่เลี้ยงอยู่มีขนาดใหญ่มากเกินไปก็ควรจะแยกออกไป ไม่เช่นนั้นวันดีคืนดีอาจเล่นงานออสการ์ตัวเก่งเอาได้  ส่วนปลากลุ่มอื่นที่เลี้ยงด้วยกันได้นั้น ส่วนมากมักจะเป็นปลาที่ไม่ค่อยว่ายน้ำหรือสามารถป้องกันตัวเองได้ เช่น ปลากราย ปลาตองลาย ปลาชะโด หรือปลาเสือตอ เป็นต้น  ปลาอีกกลุ่มที่เลี้ยงร่วมกันได้เป็นอย่างดีได้แก่ปลาที่อาศัยอยู่หน้าดินเป็นหลัก เช่น ปลากระทิงไฟ ปลากดดำ ปลากดแก้ว หรือปลาเรดเทล แคทฟิช เป็นต้น


ปลากัด

ปลากัดภาคกลาง หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens อยู่ในวงศ์ Macropodinae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae มีรูปร่างเพรียวยาวและแบนข้าง หัวมีขนาดเล็ก ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม มีอวัยวะช่วยหายใจบนผิวน้ำได้โดยใช้ปากฮุบอากาศโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากเป็นแบบ Ctenoid ปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบอกคู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส ปลาตัวผู้มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่ปลาตัวเมียสีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด
ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 6 เซนติเมตร พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งที่มีขนาดตื้นพื้นที่เล็กทั้งในภาคกลางและภาคเหนือในประเทศไทยเท่านั้น สถานะปัจจุบันในธรรมชาติถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและสารเคมีที่ตกค้าง
มีพฤติกรรมชอบอยู่ตัวเดียวในอาณาบริเวณแคบ ๆ เพราะดุร้ายก้าวร้าวมากในปลาชนิดเดียวกัน ตัวผู้เมื่อพบกันจะพองตัว พองเหงือก เบ่งสีเข้ากัดกัน ซึ่งในบางครั้งอาจกัดได้จนถึงตาย เมื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายก่อหวอดติดกับวัสดุต่าง ๆ เหนือผิวน้ำ ไข่ใช้เวลาฟัก 2 วัน โดยที่ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่และตัวอ่อนเอง โดยไม่ให้ปลาตัวเมียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ปลากัด
เป็นปลาที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีมาแต่โบราณ โดยปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมจากธรรมชาติมักเรียกติดปากว่า "ปลากัดทุ่ง" หรือ "ปลากัดลูกทุ่ง" หรือ "ปลากัดป่า" จากพฤติกรรมที่ชอบกัดกันเองแบบนี้ ทำให้นิยมนำมาเลี้ยงใช้สำหรับกัดต่อสู้กันเป็นการพนันชนิดหนึ่งของคนไทย และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และความสามารถในชั้นเชิงการกัดจนถึงปัจจุบัน จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยและเป็นที่รับรู้ของชาวต่างชาติในชื่อ "Siamese fighting fish"
ในปัจจุบัน ปลากัดภาคกลางได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีสีสันที่สวยงามและหลากหลายขึ้น เรียกว่า "ปลากัดหม้อ" นิยมเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กและแคบ เช่น ขวดโหล ขวดน้ำอัดลม เป็นต้น อีกทั้งยังได้พัฒนาสายพันธุ์ในแง่ของความเป็นปลาสวยงามอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ปลากัดจีน ที่มีเครื่องครีบยาว ปลากัดแฟนซี ที่มีสีสันหลากหลายสวยงาม ปลากัดคราวน์เทล หรือ ปลากัดฮาร์ฟมูน เป็นต้น

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ปลาหางนกยูง


ปลาหางนกยูง (Guppy) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Poecilia reticulata ในวงศ์ปลาสอด (Poeciliidae) เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ไม่เกิน 5 นิ้ว มีจุดเด่นคือครีบหางที่มีขนาดใหญ่ ตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกันจนเห็นได้ชัด กล่าวคือ ตัวผู้มีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามาก แต่มีสีสันและครีบที่สวยงามกว่า ขณะที่ตัวเมียตัวใหญ่กว่า ท้องอูม สีสันและครีบเครื่องเล็กกว่า
มีการกระจายพันธุ์บริเวณทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดจนถึงน้ำกร่อยที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ เป็นปลาอาศัยอยู่รวมเป็นฝูง หากินบริเวณผิวน้ำ โดยกินทั้งพืชและสัตว์น้ำรวมถึงแมลงหรือตัวอ่อนแมลงขนาดเล็กด้วย
ปลาหางนกยูงเป็นปลาที่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นปลาสวยงาม ในประเทศไทยได้มีการนำเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนิยมเลี้ยงกันในอ่างบัว เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายมาก มีสีสันสวยงาม สามารถเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงได้ จากการเป็นปลาผิวน้ำและเป็นปลาขนาดเล็ก ทำให้การเลี้ยงปลาหางนกยูงในอ่างบัว ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนเหมือนปลาชนิดอื่น ๆ อีกทั้งการแพร่ขยายพันธุ์ก็กระทำได้ง่ายมาก เนื่องจากเป็นปลาที่ปฏิสนธิภายในตัว และออกลูกเป็นตัว โดยปลาตัวเมียเมื่อได้รับการผสมแล้วจะสามารถให้ลูกไปได้ราว 2-3 ครอก ซึ่งการขยายพันธุ์ก็เพียงแค่จับปลาตัวผู้และตัวเมียมาเลี้ยงไว้รวมกันก็สามารถให้ลูกได้แล้ว โดยปลาที่มีความพร้อมที่จะขยายพันธุ์จะมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
ปัจจุบัน ปลาหางนกยูงได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันและลวดลายรวมทั้งขนาดลำตัวให้แตกต่าง สวยงามไปจากพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติเยอะมาก มีหลายสายพันธุ์ เช่น ทักซิโด้, กร๊าซ, คอบร้า, โมเสค , หางดาบ, นีออน เป็นต้น
จากความเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ง่าย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้คนไทยเลี้ยงปลาหางนกยูงไว้ในภาชนะที่ใส่น้ำในบ้านเพื่อกินลูกน้ำและยุงเพื่อเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากยุง และในปัจจุบัน ปลาหางนกยูงได้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งในประเทศไทยไปแล้ว มีการพบในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปปะปนกับปลาขนาดเล็กพื้นเมืองทั้งหลาย ซึ่งปลาหางนกยูงส่วนใหญ่ในธรรมชาติที่พบนั้น จะมีลำตัวใส ไม่มีลวดลายทั้งนี้เนื่องจากเป็นผลจากการผสมภายในสายเลือดเดียวกัน